เด็กหลังห้องในอาเซียน


Warning: Undefined variable $content in C:\xampp\htdocs\international\wp-content\plugins\facebook-share-new\facebookshare.php on line 636

เมื่อคืนผมได้มีโอกาสนอนดูข่าวทางทีวีช่องหนึ่งนำเสนอสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับความคืบหน้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Community) โดยในสกู๊ปมีการนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มกันระหว่าง 10 ประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงความกระตือรือร้นของประเทศสมาชิกต่อการรวมตัวครั้งนี้  และความตื่นตัวของนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมตัวที่จะกระโดดเข้ามาลงทุนในอาเซียน

aseanlogoหลังจากนั่งดูไปสักระยะ ภายในสกู๊ปเสนอเกี่ยวกับความแตกต่างและความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของในแต่ละประเทศ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบประเทศสิงคโปร์ กับ พม่าแล้วนั้น ความแตกต่างยิ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเลยทีเดียว และแล้วผมก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า 10 ประเทศอาเซียนจะรวมตัวกันได้จริงๆ หรือจะเป็นแค่เพียงในรูปของนโยบาย? ส่วนทำถามที่เหลือก็พรั่งพรูตามกันออกมา ทั้งในเรื่องของการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่เตรียมตัวกันอยู่ทุกวี่วัน ว่าตกลงแล้วจะมีคนชาติอื่นๆเข้ามาแย่งงานเราจริงไหม เรายังคงต้องกระเสือกกระสนหาช่องทางเอาตัวรอดเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในอาเซียนต่อไปไหม แล้วระบบเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไหม ภาษีขาเข้า-ขาออกจะเป็นอย่างไร แต่มีคำถามหนึ่งติดอยู่ในหัวผมตลอดว่า พม่า ประเทศที่หลายๆคนเชื่อว่าล้าหลังที่สุดในอาเซียน เขามีการเตรียมตัว และมีการบริหารจัดการประเทศอย่างไร แล้วถ้าเด็กโข่งอย่างพม่าต้องรวมกลุ่มกับเด็กเก่งอื่นๆอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และอีก 5 ประเทศที่เหลือแล้วนั้น พม่าจะทำตัวอย่างไร จะยอมนั่งหลังห้องเป็นที่โหล่ หรือจะผลักดันตัวเองแซงเพื่อนคนอื่นๆกันแน่ ซึ่งสุดท้ายเมื่อคำถามคาใจจนทำให้นอนไม่หลับ ก็เลยต้องลุกมา google ดูซะหน่อยว่าเด็กชายพม่ามีแผนจะจัดการตัวเองอย่างไร

แต่สิ่งที่ผมได้จาก google นั้นทำให้ผมไม่แน่ใจแล้วว่าเด็กชายพม่าจะเป็นเด็กโข่งอยู่หลังห้องแล้วจริงๆ ถึงแม้พม่าและสิงคโปร์จะยังคงมีความแตกต่างกันมาก และหลายคนมองว่าพม่าล้าหลังไทยอยู่หลายช่วงตัว แต่ตอนนี้ทุกอย่างอาจจะไม่แน่เสมอไปก็ได้ เพราะตั้งแต่การเลือกตั้งปลายปีmap พ.ศ. 2553 พม่าก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง และก็สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้กับนักลงทุนได้ไม่น้อย แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังหวั่นๆอยู่ก็คือปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคง รวมไปถึงด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลใหม่ ดังเช่นที่ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในหนังสือ เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในพม่าว่า ‘การพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า แม้จะมีทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต ตลอดจนมีแนวนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนและการค้าที่แน่นอน  หากแต่ปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน และโครงสร้างการบริหารจัดการและการดำเนินงานของระบบราชการ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ดูจะเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ’ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพม่าจัดการขจัดความกังวลของนักลงทุนในส่วนนี้ออกไปได้ เราก็จะได้เห็นการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของพม่าได้เช่นเดียวกัน

ในด้านการจัดการ พม่ามีการวางนโยบายและกลยุทธ์ไว้ในหลายๆด้าน เช่น การวางนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมผลผลิต และสนับสนุนสินค้าส่งออกภาคเกษตร เพราะแรงงานในประเทศกว่าร้อยละ 60 อยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยรัฐบาลมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนช่วยดูแลสนับสนุนเกษตกรอย่างใกล้ชิด ส่วนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลพม่าวางนโยบายแผนบริหารจัดการ 30 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะขยับขยายภาคอุตสาหกรรมเข้าไปแทนที่ภาคเกษตร โดยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้นทั่วประเทศ และสนับสนุนการลงทุนร่วมกับต่างชาติเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหญ่ที่จะนำพาเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังมีนโยบายเพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวและบริการโดยมีแผนจะขยายและปรับปรุงเขตพื้นที่ท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในหลายๆเขตอันสืบเนื่องมาจากเรื่องของความมั่นคงนั่นเอง

สุดท้ายแล้วผมก็ได้รู้ว่าเด็กชายพม่าไม่ได้ยอมนั่งหลับหลังห้องเหมือนนักศึกษาไทยหลายๆคน แต่เขากำลังเตรียมตัว และรอโอกาสที่จะขยับขึ้นเป็นเด็กหน้าห้องแทนที่เพื่อนๆหลายคน ซึ่งพอมาถึงตอนนี้แล้วคำถามต่างๆเกี่ยวกับประเทศพม่าก็หายไป แต่เกิดความกังวลกับอีกประเทศแทนที่ว่า “เรา” เตรียมพร้อมพอแล้วหรือยัง?

 

ผู้เขียน: อ.ปวริศร์  มาเกิด, อาจารย์ประจำสาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

Rajamangala International Business Administration Rattanakosin (RIBAR)


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น